ตาบอดสี (Color blindness)
คือการไร้ความสามารถ หรือการลดความสามารถในการเห็นหรือการแยกแยะสี ตาบอดสีเป็นภาวะที่พบได้บ่อยภาวะหนึ่งพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. Acquired Color Blindness ภาวะตาบอดสีที่เกิดขึ้นภายหลังที่เคยเห็นสีที่ปกติมาก่อนไม่ได้เป็นตั้งแต่กำเนิด ต่อมามีโรคของจอตาหรือประสาทตา ตลอดจนโรคของสมอง
ส่วนของการรับรู้การมองเห็น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการมองเห็นสีผิดไปโดยเกิดจากการสูญเสียเซลล์รูปกรวยชนิดต่างๆซึ่งมักเป็นเซลล์รูปกรวยทั้ง 3 ชนิด ไม่ใช่ชนิดใดชนิดหนึ่ง
แบบตาบอดสีแต่กำเนิด ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า โรคของจอตามักสูญเสียการมองเห็นสีน้ำเงิน-เหลือง และโรคของประสาทตามักสูญเสียการมองเห็นสีแดง-เขียว
ความผิดปกติของการเห็นสีในกลุ่มนี้ต่างจากชนิดที่เป็นแต่กำเนิดหลายอย่าง เช่น
• ชนิดและความรุนแรงไม่คงที่
• ไม่สามารถแบ่งชนิดความบกพร่องได้ชัดเจน
• สายตาและลานสายตาผิดปกติ
• การเห็นสีของ 2 ตาไม่เท่ากัน
• พบได้ในผู้หญิงและผู้ชายเท่ากัน
2.เป็นตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการถ่ายทอดตั้งแต่กำเนิดมักเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงโดยโรคถ่ายทอดมาจาก X Chromosome ของฝ่ายแม่
ภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่เห็นสีเดียว (Monochromatism) เป็นผู้ที่มีแต่เซลล์รูปแท่ง ไม่มีเซลล์รูปกรวยเลย หรือบางรายมีเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินชนิดเดียว กลุ่มนี้จะเห็นเพียงภาพขาวดำ สายตามักมัวมากจนมองไม่เห็นสี ตาสู้แสงไม่ได้ ลูกตากลิ้งกลอกไปมาตลอดเวลา (Nystagmus) ผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์ให้การรักษาโดยมุ่งที่การช่วยเหลือให้มองเห็นดีขึ้น การเห็นสีเป็นไปไม่ได้ แพทย์จึงมักไม่คำนึงถึงเรื่องการเห็นสีเลย
- กลุ่มที่มีเซลล์รูปกรวย 2 ชนิด (Dichromatism) เมื่อขาดเซลล์รูปกรวยสีแดง เรียกว่า ตาบอดสีแดง (Protanopia) เมื่อขาดเซลล์รูปกรวยสีเขียว เรียกว่า ตาบอดสีเขียว (Deuterano pia) และเมื่อขาดเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน เรียกว่า ตาบอดสีน้ำเงิน (Tritanopia) ซึ่งตาบอดสีน้ำเงินนี้พบได้น้อยมากๆ
- กลุ่มที่มีเซลล์รูปกรวยทั้ง 3 ชนิด (Trichromatism) แต่มีอย่างใดอย่างหนึ่งพร่อง/น้อยกว่าปกติ (Anomalous trichromatism) ซึ่งเป็นกลุ่มตาบอดสีที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ เมื่อมีเซลล์รูปกรวยสีแดงน้อยกว่าปกติ เรียกว่า พร่องสีแดง (Protanomalous) เมื่อมีเซลล์รูปกรวยสีเขียวน้อยกว่าปกติ เรียกว่า พร่องสีเขียว (Deuteranomalous) และพร่องสีน้ำเงินเมื่อมีเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินน้อยกว่าปกติ (Trianomalous) ทั้งนี้ตาบอดสีแต่กำเนิดส่วนใหญ่จะพบพร่องสีแดง และพร่องสีเขียว ส่วนพร่องสีน้ำเงินพบน้อยมากๆ
ภาวะตาบอกสีแต่กำเนิด อาจเป็น บอดสีแดง หรือพร่องสีแดง บอดสีเขียวหรือพร่องสีเขียว ทำให้มองเห็นสีผิดไปจากคนปกติ ซึ่งในชีวิตประจำวันอาจไม่เดือดร้อน แต่ความสามารถในการแยกสีที่ใกล้เคียงกันลดลงไป มีข้อจำกัดในอาชีพบางอย่างที่ต้องใช้การมองแยกสีเป็นประจำ
การแก้ไขตาบอดสี
เป็นภาวะที่รักษาไม่ได้ ไม่อาจหาเซลล์รูปกรวยสีต่างๆมาชดเชยเซลล์รูปกรวยสีต่างๆที่ขาดหายไป คนตาบอดสีจึงมักแยกสีที่ใกล้เคียงกันไม่ได้ แต่บางครั้งอาจใช้แว่นซึ่งมีเลนส์บางชนิดเป็นตัวช่วยกรองแสง บางสีออกไป เพื่อช่วยให้เห็นสีต่างๆได้ชัดขึ้น
คนตาบอดสีแดงไม่สามารถแยกสีแดง และสีส้ม ออกจากสีเขียวได้ แต่ถ้าใช้แว่นกรองสีแดงออกจะเห็นสีเขียวชัดขึ้นเพราะสีเขียวจะเด่นขึ้นมา หลักการก็คือ เพิ่มความเข้มของสีหนึ่งให้ต่างจากอีกสีหนึ่ง ทำให้ผู้นั้นเห็นความแตกต่างของสี คนตาบอดสีแดง จึงใช้แว่นเลนส์สีน้ำตาลช่วยให้เห็นสีแดงเด่นชัดขึ้น จึงแยกจากสีเขียวได้ง่าย เพื่อช่วยในการสอบใบขับขี่ เป็นต้น
สำหรับคนตาบอดสีเขียว การใช้แว่นที่มีเลนส์สีเขียวไม่สามารถทำให้สิ่งของสีเขียวเด่นขึ้นมาได้ เพราะแสงสีเขียวผ่านเลนส์ได้ยาก อีกทั้งการลดแสงสีอื่นๆ จะทำให้มองภาพมัวลงไป จึงไม่เหมาะที่จะใช้เลนส์สีเขียว แก้ภาวะตาบอดสีเขียว
อย่างไรก็ตาม การใช้แว่นกรองแสงบางสี ไม่ได้ทำให้คนตาบอดสีนั้นๆ เห็นสีเหมือนคนปกติ เพียงแต่ช่วยให้เขาแยกสีได้ดีขึ้นขณะใช้แว่นกรองแสงบางสีเท่า นั้น
ผู้ป่วยตาบอดสีจากสาเหตุที่เกิดในภายหลังไม่ใช่เกิดแต่กำเนิด การดูแลรักษาตาบอดสีคือการดูแลรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ ซึ่งบางครั้งอาจช่วยให้การเห็นสีดีขึ้น แต่บางครั้งการรัก ษาไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาสาเหตุจะช่วยป้องกันหรือช่วยชะลอโอกาสเกิดตาบอดสีได้